วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทที่ 3 ความรู้ที่นักขายควรต้องมี


บทที่  3
ความรู้ที่นักขายควรต้องมี
(Sales  Knowledge)
                การที่นักขายจะประสบความสำเร็จในงานได้นั้น  นอกจากการมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมเทคนิคการขายที่ดีแล้วยังต้องมีความรอบรู้ในสินค้าที่ขาย นโยบายของบริษัท  ลูกค้าตลาด  ตลอดจนคู่แข่งขัน  เพราะความรู้เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดสินค้าให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม
ความสำคัญของการรอบรู้
                ลูกค้าโดยทั่วไปต้องการทราบความจริง  ถ้านักขายสามารถให้ข้อมูลต่าง ๆ  ที่ตรงประเด็นแนะนำ  ตอบคำถาม  และขจัดข้อโต้แย้ง  โดยมีความรอบรู้เกี่ยวกับบริษัทและคู่แข่งขันมากเท่าที่จะทำได้จะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ  และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อยิ่งขึ้น
                ประเภทของข้อมูลต่าง ๆ  ที่ควรทราบ
                1.  ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม  (Industry  knowledge)
                ได้แก่  ลักษณะของผู้เสนอขายและลูกค้าในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร  ขนาดเล็กหรือใหญ่มีการรวมตัวกันหรืออยู่อย่างกระจัดกระจาย  เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่  ขนาดของการผลิตอย่างประหยัดมีความสำคัญหรือไม่  ผู้ซื้อเน้นราคาหรือบริการผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถใช้แทนกันได้จากแหล่งอื่น ๆ มีหรือไม่  มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างไร  และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมีผลกระทบต่อบริษัทหรือลูกค้าหรือไม่  การที่ลูกค้าจะเปลี่ยนผู้เสนอขายจากรายหนึ่งไปอีกรายหนึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงไหม  ใครมีอำนาจในการต่อรองมากกว่ากันในระหว่างผู้เสนอขายและผู้ซื้อ  จะมีบริษัทใหม่ ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมอีกไหม  การแข่งขันจะเป็นอย่างไร  มีการใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ไหม  และทำการโฆษณาอย่างไร  เหล่านี้เป็นต้น
                2.  ความรู้เกี่ยวกับการแข่งขัน  (Competitive  knowledge)
                ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่นักขายจะต้องมีเพื่อจะได้วางแผนการขายได้อย่างเหมาะสม
                                ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันที่พนักงานขายควรทราบได้แก่
                                                1.  ลักษณะพิเศษเฉพาะของสินค้า  การออกแบบ  ชิ้นส่วนประกอบ  ราคา  คุณภาพ  ขนาด  บรรจุภัณฑ์  สี  รูปแบบ  ประโยชน์การใช้งานของสินค้าหรือบริการของคู่แข่งขันตลอดจนข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายและของคู่แข่งขัน
                                                2.  ยอดขายในอดีตของผลิตภัณฑ์คู่แข่งขัน  ความสัมพันธ์กับบริษัทที่ผ่านมา  (ถ้ามี)
                                                3.  นโยบายต่าง ๆ  และบริการที่คู่แข่งเสนอ  เช่น  การให้เครดิต  และการคิดราคา  การจัดส่ง  วิธีการจัดจำหน่าย ฯลฯ



                                แหล่งที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่ง
                                1.  โฆษณาของคู่แข่งขัน
                                2.  รายงานหรือวารสารของสมาคมการค้า
                                3.  เอกสารเผยแพร่จากหน่วยงานต่าง ๆ
                                4.  งานแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ
                                5.  งานประชุมสัมมนา (เอกสารจากการสมัครเป็นพนักงานของบริษัท)
                                6.  พนักงานขายของคู่แข่งขัน
                                7.  ซื้อสินค้าของคู่แข่งขันมาศึกษา
                                8.  สอบถามลูกค้าที่ใช้สินค้านั้น
                                9.  ร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าคู่แข่งขัน
                3.  ความรู้เกี่ยวกับบริษัท  (Company  knowledge)
                                ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ควรทราบ
                                1.  ประวัติความเป็นมาของบริษัท  ภารกิจ  และวัฒนธรรมขององค์กร  นักขายจึงควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ด้วย  เพราะลูกค้าจำนวนมากจะประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากข้อมูลเหล่านี้ด้วยส่วนขององค์กร
                                2.  การจัดองค์กรและบุคลากร  เช่น  ฝ่ายบัญชี  ฝ่ายขนส่ง  ฝ่ายผลิต  ฝ่ายสินเชื่อ  และฝ่ายจัดซื้อ ฯลฯ  กรณีที่ลูกค้าเกิดปัญหาขึ้นมา  นักขายจะสามารถทราบได้ทันทีว่าควรติดต่อให้ใครช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้ารายนั้น
                                3.  ผู้บริหารระดับสูง  พนักงานขายควรต้องทราบว่าใครเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท  และภูมิหลังของแต่ละคน  ผลงานในอุตสาหกรรม  บุคคลเหล่านั้นเป็นที่รู้จักกันดีในชุมชนทั่วไปหรือไม่  ถ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงก็สามารถนำชื่อมาอ้างในการขายได้
                                4.  นโยบายต่าง ๆ  และแนวทางการปฏิบัติงาน
                                บริษัททุกแห่งมักจะมีกฎข้อบังคับหรือนโยบายต่าง ๆ  เป็นแนวทางในการดำเนินงาน  ซึ่งพนักงานขายจะต้องทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้ง  เพื่อที่จะได้ไม่ไปให้สัญญาอะไรกับลูกค้าที่ขัดกับระเบียบของบริษัท  นโยบายสำคัญ ๆ  ที่นักขายควรทำความคุ้นเคย  ได้แก่  นโยบายด้านเครดิต  ราคา และการบริการ ฯลฯ
                                5.  กิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม  บริษัทมีโปรแกรมสนับสนุนช่วยเหลือสังคม  สิ่งแวดล้อม  องค์กรการกุศล และพัฒนาชุมชนหรือไม่  สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท และจูงใจให้ลูกค้าให้การสนับสนุน
                4.  ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์  (Product  knowledge)
                ความรอบรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เสนอขายอย่างสมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็นถ้าบุคคลนั้นต้องการที่จะก้าวหน้าในอาชีพขาย  นักขายที่ประสบความสำเร็จในงานมากที่สุดคือผู้ที่สามารถสื่อสารคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายไปยังผู้คาดหวังได้ดีที่สุด

                                ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ควรทราบ  ได้แก่
                                1.  คุณลักษณะพิเศษของผลิตภัณฑ์  (Product  Feature)
                                2.  กระบวนการผลิต
                                3.  ประโยชน์การใช้งานของผลิตภัณฑ์
                                4.  ข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์
                                5.  ราคาและการจัดส่งผลิตภัณฑ์
                                6.  การบริการหลังการขาย
                                7.  การส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์
                5.  ความรู้เกี่ยวกับตลาดและลูกค้า (Markets  and  Customers  Knowledge)
                กล่าวคือนักขายควรทราบว่าลูกค้าที่เป็นตลาดเป้าหมายคือใคร  มีคุณสมบัติโดยทั่วไปอย่างไร  มีพฤติกรรมการซื้ออย่างไรและทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ  เหตุผลที่ลูกค้าซื้อสินค้าเพราะต้องการผลประโยชน์อะไรเป็นสำคัญ  เพื่อที่นักขายจะได้จัดผลิตภัณฑ์และวางแผนการเสนอขายให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น